คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff(FiT)

ก.อุ ตฯ-ก.พลังงาน เคลียร์โซลาร์รูฟท็อปจบ กำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องขอใบ รง.4 เดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาฯ ด้านเอกชนเฮ เร่งเดินหน้าติดตั้งแผงโซลาร์ อ้อน ก.พลังงาน เปิดโครงการใหม่เพิ่ม

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)วันนี้พิจารณาแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff(FiT) โดยเห็นชอบใน 2 ประเด็นหลักคือ ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทต่างๆ ให้ครบตามเป้าหมายและกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับใช้ในการรับซื้อไฟฟ้าในปี 57-58 ซึ่งกระทรวงพลังงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเรียบร้อยแล้ว

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม)ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 576 เมกะวัตต์ เพื่อให้เต็มตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,000 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.58 โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รับไปพิจารณาจากผู้ที่ยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอขายไฟฟ้าไว้เดิมแต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า

ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป)ให้ขยายเวลากำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์สำหรับโครงการที่ผูกพันกับภาครัฐแล้ว 130.64 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนดไว้ภายในเดือน ธ.ค.56 เป็นภายในสิ้นเดือน ธ.ค.57 เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความชัดเจนการตีความนิยามของ “โรงงาน” ตามกฎหมาย และปัญหาการขออนุญาตดัดแปลงอาคารตามข้อกำหนดกรมโยธาธิการและผังเมืองทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในกำหนด พร้อมกันนี้ยังเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มสำหรับประเภทโครงการขนาดเล็กสำหรับที่พักอาศัยขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์อีก 69.36 เมกะวัตต์ เพื่อให้ครบเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์ โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.58

ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน (โซลาร์ชุมชน)ให้ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ขนาดติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวม 800 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.58 จากเดิมรูปแบบจะให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นเจ้าของโครงการ แต่ติดปัญหาหลายประการทำให้โครงการยังไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใด เช่น ชุมชนไม่สามารถจัดหาพื้นที่ส่วนกลางเพื่อตั้งโครงการได้เพราะต้องใช้ที่ดินส่วนรวม 10-12 ไร่  ปัญหาชุมชนไม่สามารถจัดหาเงินลงทุนได้ เป็นต้น

นายอารีพงษ์ กล่าวว่า อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ FiT ในปี 57-58 เป็นดังนี้ 1)แบบติดตั้งบนพื้นดิน(90 เมกะวัตต์) 5.66 บาท/หน่วย 2)แบบติดตั้งบนหลังคา(บ้านอยู่อาศัย 10 กิโลวัตต์)  6.85 บาท/หน่วย 3)แบบติดตั้งบนหลังคา(อาคารธุรกิจ/โรงงาน >10-250 กิโลวัตต์) 6.40 บาท/หน่วย 4) แบบติดตั้งบนหลังคา(อาคารธุรกิจ/โรงงาน >250-1,000 กิโลวัตต์) 6.01 บาท/หน่วย  5)แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร 5.66 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ โครงการทุกรูปแบบมีระยะเวลาในการสนับสนุน 25 ปี

ที่มา ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *